กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่บริเวณชายดหาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

Release Date : 03-02-2019 15:10:11
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบเต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่บริเวณชายดหาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง ได้แจ้งพบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ บริเวณชายหาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบร่องรอยการขึ้นวางไข่เป็นเต่าหญ้า ตรวจวัดรอยความกว้างของหน้าอก 78เซนติเมตร เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดย้ายนำไปฟักที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์หาดท่าไทร โดยตรวจนับจำนวนไข่ได้ 81ฟอง เป็นไข่สมบูรณ์ทั้งหมด ถือเป็นข่าวดีอีกครั้งที่พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ หลังจากก่อนหน้านี้ในพื้นที่ จ.พังงา พบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ 3ครั้ง บริเวณหาดคึกคักและหาดท่าไทร จ.พังงา แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เต่าทะเล 2ชนิด ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก โดย ทช. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิในรังไข่ จัดทำรั้วขนาดใหญ่รอบรังไข่เต่า เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ตามธรรมชาติเข้าไปรบกวนภายในบริเวณฟักไข่ และป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้หรือขโมยไข่เต่า พร้อมทั้ง ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เปิดให้ชมสดให้ทุกคนทั่วไทยทั่วโลกชมได้ตลอดเวลา และร่วมมือกับท้องถิ่นเฝ้าระวังตลอด 24ชั่วโมง จึงขอความร่วมมือจากทุกคน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเลให้มากขึ้น เช่น ไม่ทิ้งถุงพลาสติกบริเวณชายหาดหรือในท้องทะเล ลดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การสร้างรีสอร์ทที่ส่งผลกระทบทำลายระบบนิเวศทางทะเล และลดความเชื่อผิดๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญอยากให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติร่วมลงมือทำกันอย่างจริงจัง เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ทะเลที่หายากเหล่านี้ให้คงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไป

สำหรับเต่าหญ้า เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ่มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535มีลักษณะกระดองเรียบสีเทาอมเขียว สีสันไม่สวยงามเท่าเต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จะงอยปากมนกว่าเต่าตนุ และที่แตกต่างกันชัดเจน คือ เต่าหญ้ามีเกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า 2คู่ และเกล็ดบนกระดองหลังแถวข้าง 6-8แผ่น โดยคู่แรกชิดติดกับเกล็ดขอบคอ ในขณะที่เต่ากระและเต่าตนุมีเพียง 4แผ่น ขนาดโตเต็มที่ 75-80เซนติเมตร น้ำหนัก 50กิโลกรัม ขนาดที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ ความยาวกระดอง 60-65เซนติเมตร จัดเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุด ตัวเต็มวัยหากินอยู่ชายฝั่งน้ำตื้นแต่สามารถดำน้ำได้ถึง 300เมตร วางไข่ทุกๆ 1-3ปี ฤดูวางไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม กินสัตว์น้ำต่างๆ คือ กุ้ง หอย ปู และปลาเป็นอาหาร ถิ่นอาศัยหลักอยู่ในเขตซีกโลกเหนือ บริเวณที่มีอุณหภูมิของน้ำ 20องศาเซลเซียส ส่วนประเทศไทยพบมากในฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณเกาะกระ เกาะพระทอง เกาะคอเขา หาดท้ายเหมือง จ.พังงา และหาดไม้ขาว หาดกมลา หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันพบการขึ้นมาวางไข่ของเต่าหญ้าน้อยมาก จึงเกรงว่าเต่าชนิดดังกล่าวนี้น่าจะใกล้สูญพันธุ์แล้ว