ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 ชุมพร เผยผลสำรวจหญ้าทะเลอ่าวทุ่งคา-สวี บริเวณปากคลองสวีเฒ่า พบความหนาแน่นดี 50-75% เป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำทะเลดี นายมรกต โจวรรณถะ หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 ชุมพร เปิดเผยผลการสำรวจหญ้าทะเลบริเวณอ่าวทุ่งคา-สวี (ปากคลองสวีเฒ่า) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ว่า พบหญ้าทะเลในสภาพที่น่าพอใจ สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศทางทะเลที่ยังคงสมบูรณ์ นายมรกต กล่าวว่า จากการสำรวจโดยใช้วิธี Line transect ในครั้งนี้ เราพบหญ้าทะเลชนิดเด่น คือ หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii) ปกคลุมพื้นที่ประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ การพบหญ้าทะเลในสภาพดีแสดงให้เห็นว่า คุณภาพน้ำในพื้นที่บริเวณนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมากนัก เนื่องจากหญ้าทะเลเป็นพืชที่ละเอียดอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หญ้าเงาแคระเป็นหญ้าทะเลขนาดเล็กที่มีใบมนรี มีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มและความขุ่นของน้ำได้ดี จึงมักพบในบริเวณปากแม่น้ำและอ่าวที่มีน้ำจืดไหลลงมาผสม หญ้าทะเลนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิดแล้ว ยังทำหน้าที่เป็น "ปอดใต้น้ำ" ผลิตออกซิเจนให้กับระบบนิเวศ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยกรองสิ่งสกปรกในน้ำทะเล การสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับภารกิจของมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งเน้นการติดตาม อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ทะเลอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 ชุมพร ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และจะขยายการสำรวจไปยังพื้นที่อื่นๆในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เพื่อจัดทำฐานข้อมูลหญ้าทะเลและติดตามการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลรักษา เพื่อรักษาความสมดุลและความยั่งยืนให้กับทรัพยากรทางทะเลต่อไป