พะยูน เจ้าหมูน้ำขี้ตกใจ สัตว์ทะเลหายาก ที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล

Release Date : 18-08-2023 00:00:00
พะยูน เจ้าหมูน้ำขี้ตกใจ สัตว์ทะเลหายาก ที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" ศุกร์หรรษานี้ จึงขอนำทุกท่านไปทำความเข้าใจกับสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้ เจ้าหมูน้ำขี้ตกใจ หรือ พะยูน ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น

พะยูนยังเป็นสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมาก ขนาดประมาณ 200-300 กิโลกรัม อายุเฉลี่ยถึง 70 ปี และยังเป็นเจ้าหมูน้ำที่ตื่นตกใจ ตายได้ง่าย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำบ่อยๆในเวลา 1-2 นาที หากติดเครื่องมือประมงก็จะไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ และตายในเวลาเพียงไม่กี่นาที

จากงานวิจัยสำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯได้ลงพื้นที่ไปสำรวจบริเวณหัวสะพานเกาะมุก เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทำให้พบกับเจ้าพะยูนแสนน่ารักมาว่ายทักทายเจ้าหน้าที่ฯ

โดยงานวิจัยนี้พบว่า บริเวณนี้หญ้าทะเลมีความสมบูรณ์เล็กน้อย ซึ่งเเนวโน้มใน 7 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แหล่งอาหารสำคัญของพะยูนมีความเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

 ปัญหาสำคัญนี้ทำให้มีหลายหน่วยงานออกมาช่วยอนุรักษ์พะยูนไปพร้อมกับหญ้าทะเล และเกิดกิจกรรมขึ้นมากมาย

อาทิ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เช่น อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี, อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอีกหลายหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย มาช่วยกันปลูกหญ้าทะเล เนื่องในวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้ทุกคนตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลของไทย

ด้านสาเหตุที่แหล่งอาหารสำคัญของพะยูนลดลง ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการอช.ทางทะเลที่ 3 ยังพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนมาจากชายฝั่งและมนุษย์ ไม่ว่าเป็นปัญหาขยะ การตกตะกอนปากเเม่น้ำ ปัญหาน้ำเสีย ฯลฯ

และหากถามว่าคนทั่วไปจะสามารถช่วยดูแลพะยูนได้อย่างไร ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่การลดการทิ้งขยะเกลื่อนกลาด งดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ยังจะสามารถช่วยเพื่อนมาเรียมและยามีลตัวต่อไปได้ และต้องเป็นหน้าที่ของทุกคน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก - ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช