พบหอยเม่นหมวกกันน็อค ครั้งแรกที่สิมิลัน

Release Date : 18-11-2019 10:21:30
พบหอยเม่นหมวกกันน็อค ครั้งแรกที่สิมิลัน

ที่จังหวัดพังงาพบหอยเม่นหมวกกันน็อค ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก เป็นครั้งแรกของเกาะสิมิลัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็เชื่อว่าเป็นผลมาจากธรรมชาติมีการฟื้นตัวมากขึ้น
 
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยว่า การพบครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ นางสาวเพ็ญศรี พิพัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้ออกลาดตระเวนเชิงคุณภาพ บริเวณเกาะบางู หรือ เกาะเก้า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ได้สำรวจพบหอยเม่นหมวกกันน็อก ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากประมาณ 50 ตัว เป็นการค้นพบครั้งแรกในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้พบเห็นสัตว์ทะเลหายากหลากชนิดบ่อยขึ้น  หลังจากนี้จะให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทำการศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าเพราะสาเหตุใดจึงมีการค้นพบครั้งนี้ และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอื่นหรือไม่ 
 
สำหรับ หอยเม่นหมวกกันน็อก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Colobocentrotus atratus หอยเม่นหมวกกันน็อกหรือบางทีรู้จักกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา  มีลักษณะที่แตกต่างจากหอยเม่นทั่วไป คือเนื้อตัวที่เกลี้ยงเหมือนมุงด้วยกระเบื้อง ไม่มีหนามแหลม  
 
จากข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบแรงยึดเกาะของหอยเม่นหมวกกันน็อค พบว่า สามารถต้านทานแรงปะทะคลื่นได้ตั้งแต่ความเร็ว 17.5 เมตรต่อวินาที ไปจนถึง 27.5 เมตรต่อวินาที เทียบได้กับแรงที่สามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้น จึงมีความสามารถอยู่ในพื้นที่ที่อันตรายจากคลื่นทะเลได้โดยปลอดภัย
 
หอยเม่นหมวกกันน็อค พบได้ทั่วไปตามโขดหินตามชายหาดที่มีคลื่นซัดถึง ในแถบ Indo-West Pacific และ ฮาวาย แต่ในประเทศไทยมีรายงานการพบหอยเม่นชนิดนี้น้อยมาก โดยรายงานการพบครั้งแรกในปี 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช และมีการรายงานการพบครั้งล่าสุดในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา