พะยูนน้อย ที่พบ จ.กระบี่ อาการดีขึ้น; ผ่าพิสูจน์ซากวาฬหัวทุยตายกลางทะเล

Release Date : 05-07-2019 00:00:00
พะยูนน้อย ที่พบ จ.กระบี่ อาการดีขึ้น; ผ่าพิสูจน์ซากวาฬหัวทุยตายกลางทะเล

อาการของพะยูนน้อยตัวล่าสุด ที่พบเกยตื้นที่จังหวัดกระบี่ จากตอนแรกที่ชาวบ้านไปพบ มีสภาพอิดโรย ตามตัวพบบาดแผลจำนวนมาก แต่หลังจากนำมาพักฟื้นที่จังหวัดภูเก็ต ล่าสุด แข็งแรงขึ้นแล้ว เราไปชมภาพความน่ารักของพะยูนน้อยตัวนี้กัน
 
พะยูนน้อยตัวนี้รู้งาน โชว์นอนหงายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ชมกันด้วย โดยเจ้าหน้าที่นำมาเลี้ยงไว้ที่บ่ออนุบาล กลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามัน 
 
ลูกพะยูนตัวนี้ เป็นเพศผู้ วัยประมาณ 3 เดือน น้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ชาวบ้านบ้านบ่อม่วง ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือไว้ หลังจากพบเกยตื้นอยู่บริเวณชายหาดบ่อม่วง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา 
 
สำหรับการดูแล เจ้าหน้าที่ให้นมเหมือนน้องมาเรียม ซึ่งก็กินนมได้ตามปกติ  ว่ายน้ำเองได้แล้ว ส่วนบาดแผลภายนอกที่พบ ค่อนข้างลึก ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากอะไร จึงได้เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อและเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์
 
สำหรับสถานการณ์พะยูนในประเทศไทย  ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ดีขึ้นค่อนข้างมาก จากก่อนหน้านี้มีประมาณกว่า 100 ตัว แต่ปัจจุบันเพิ่มกว่า 300 ตัว โดยเฉพาะจังหวัดตรัง มีประมาณ 200 ตัว  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี 
สำหรับการดูแลพะยูนถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมเชิญชวนประกวดตั้งชื่อพะยูนตัวน้อย  เพื่อหาชื่อที่เหมาะสม / อย่างน้องมาเรียม ที่ไม่มีการประกวด เพราะชาวบ้านบนเกาะลิงบงได้ตั้งชื่อเอาไว้ก่อนแล้ว  แปลว่า สาวน้อยที่มีความสวยงามแห่งท้องทะเล
 
ส่วน ซากวาฬหัวทุย ขนาดใหญ่ หลังชาวประมงพบลอยตายกลางทะเล ระหว่างเกาะลันตาใหญ่และเกาไหง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทีมสัตวแพทย์ ได้ผ่าพิสูจน์ซากวาฬ เบื้องต้นพบว่า ปลายกรามล่างถูกตัดหายไป และพบชิ้นส่วนขวดพลาสติกในกระเพาะอาหาร   
 
ผลการผ่าท้องและกระเพาะอาหาร  ทีมสัตวแพทย์พบชิ้นส่วนขวดพลาสติก / เขี้ยวปลาหมึก  ปลาและพยาธิอีกส่วนหนึ่ง และพบชิ้นเนื้อผิดปกติ เจ้าหน้าที่ได้ตัดชิ้นส่วนของวาฬตัวดังกล่าว ส่งไปตรวจสอบหาสาเหตุของการตายอย่างชัดเจน เพื่อนำประกอบเป็นข้อมูลในการดูแลทรัพยากรทางทะเลของไทย  
 
รวมถึงร่องรอยการตัดกรามที่เกิดขึ้นหลังวาฬตาย ซึ่งทางด้านประมงจังหวัด คาดว่าจะมีคนไปพบแล้วตัดกรามเพื่อนำไปใช้ประโยชน์บางอย่าง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีปรากฏการณ์ล่าวาฬชนิดนี้ หรือตัดอวัยวะส่วนใดไป จึงต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียด
 
วาฬหัวทุย หรือวาฬสเปิร์ม เป็นสัตว์ทะเลหายากขนาดใหญ่อาศัยในทะเลลึก หากโตเต็มวัยมีขนาด 20 เมตร หนัก 45 ตัน มีอายุยืนถึง 70 ปี ในน่านน้ำไทยพบเพียง 3 จังหวัด คือ พังงา ภูเก็ต สตูล และถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทย