กระเบนราหู

Release Date : 14-12-2017 17:37:38
กระเบนราหู

กระเบนราหู...มหัศจรรย์ชีวิตกระเบนยักษ์ไทย

ปลากระเบนเจ้าพระยาหรือกระเบนราหู พบครั้งแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่กลอง โดยตีพิมพ์การพบในหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อปี พ.ศ. 2520 (ค.ศ.1983) โดยระบุว่าปลากระเบนเจ้าพระยาที่ค้นพบมีน้ำหนักถึง 500 -600 กิโลกรัม เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดอยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) ซึ่งลักษณะเด่นคือมีตา และช่อง spiracle อยู่ด้านบนลำตัวชัดเจน มีหางเรียวยาวเหมือนแส้ (Whiptail stingray) และสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “ราหู" นอกจากมาจากการเปรียบเทียบความใหญ่มหึมาของขนาดปลากระเบนชนิดนี้กับกระเบนราหูทะเล (Manta ray) แล้วยังเป็นไปตามลักษณะของขนาดลำตัวที่ใหญ่เหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณขนาดลำตัวที่ใหญ่ สีดำน้ำตาลเหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณ

 

กระเบนเจ้าพระยาเป็นสัตว์ที่พบได้ในเพียงบางพื้นที่ของโลกและมีการลดลงอย่างรวดเร็วปัจจุบันจึงถูกจัดเป็นสัตว์ในหมวดใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หมายถึง สิ่งที่มีชีวิตในหมวดนี้มีความเสี่ยงสูงมากต่อการสูญพันธุ์ไปในช่วงเวลาอันใกล้

แนวทางการอนุรักษ์กระเบนราหู

กระเบนเจ้าพระยาหรือกระเบนราหู มีสถานภาพเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง การจัดมาตรการการอนุรักษ์ที่ชัดเจนและจริงจังที่เป็นสิ่งที่สำคัญ

1.    คุ้มครองอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย

2.    พัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิเวศวิทยาและประชากร โดยการค้นคว้าวิจัย ติดตามตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

3.    เพิ่มความตระหนักของสาธารณชนเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อกระเบนน้ำจืดไทยและถิ่นที่อยู่อาศัยและเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในกิจกรรมการอนุรักษ์

4.    เสริมสร้างความร่วมมือใน ระดับภูมิภาค ระดับชาติ ระดับนานาชาติ

งานวิจัย-ศึกษาด้านกระเบนเจ้าพระยา

1. การสำรวจประชากร และบันทึกลักษณะทางชีววิทยา

โดยการทำเครื่องหมายติดตัวกระเบนที่จับได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2560 พบว่าในลุ่มน้ำแม่กลองมีจำนวนมากกว่า 250 ตัว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยมีขนาดความกว้างลำตัว ตั้งแต่ 0.3 - 2.5 เมตร 

2. การศึกษาพิษวิทยาระดับชีวโมเลกุลของเงี่ยงกระเบน ร่วมกับสถานเสาวภา

โดยการขูดเก็บเนื้อเยื่อที่เงี่ยงพิษของกระเบน วิธีการพิสูจน์ชนิดโปรตีน ด้วยเทคนิคทางอนูชีววิทยา เพื่อการพัฒนาแอนติเซรุ่ม เพื่อใช้รักษา หรือบรรเทาพิษในผู้ที่ได้รับพิษจากเงี่ยง

3. การศึกษาทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีในโลหิต

เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการประเมินสุขภาพ และเปรียบเทียบกับปลากระเบนเจ้าพระยาที่เลี้ยงในที่เพาะเลี้ยง เพื่อพัฒนาการเลี้ยงที่เหมาะสม และไว้ใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคต่อไป

4. การศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ โดยการตัดเก็บปลายแผ่นครีบอก เพื่อนำไปตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรม นำผลมาเปรียบเทียบผล เพื่อดูความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

5. การสำรวจปรสิต

ทำการเก็บตัวอย่างปรสิตภายนอก และภายในจากเหงือก และอุจจาระตามลำดับ

6. การเก็บ บันทึกคุณภาพดินและน้ำแต่ละแหล่งที่พบกระเบนเจ้าพระยา

ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและดินมาตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ ชีวภาพและเคมี เพื่อใช้เป็นตัวแทนคุณภาพน้ำในแหล่งอาศัย หรือหากินของกระเบนเจ้าพระยาที่เหมาะสม โดยข้อมูลนี้จะเป็นค่าอ้างอิงที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงกระเบนชนิดนี้ในที่เลี้ยงด้วย

7. การศึกษาชีววิทยาของระบบสืบพันธุ์และวงรอบการสืบพันธุ์  

รวมทั้งพัฒนาการรีดน้ำเชื้อในปลากระเบนเพศผู้เพื่อพัฒนางานวิจัยสู่การผสมเทียมต่อไป

8. การพัฒนารูปแบบการติดเครื่องหมาย เพื่อการติดตามทางชีววิทยา

เพื่อใช้ในการบ่งบอกในกรณีที่สามารถจับปลาได้ซ้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาอย่างต่อเนื่อง