นาวิกโยธิน กองทัพเรือ ร่วมกับ กฟผ. จัดวางปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าบริเวณหาดเตยงาม 200 ชุด

Release Date : 30-08-2018 18:26:39
นาวิกโยธิน กองทัพเรือ ร่วมกับ กฟผ. จัดวางปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าบริเวณหาดเตยงาม 200 ชุด

พลเรือตรี พิสัย สุขวัน รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการทำประมงสูงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลถูกทำลายด้วยเครื่องมือประมง ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกับ กฟผ. จัดโครงการบ้านปลาปะการังเทียมจาก ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยวางปะการังเทียม จำนวน 200 ชุด ในพื้นที่บริเวณหาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง ที่ผ่านมาพบว่า ปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 สามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ปะการังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และปริมาณสัตว์น้ำในทะเลเพิ่มขึ้น  
 
นายไวยวิทย์ สุขมาก ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. กล่าวว่า โครงการบ้านปลาปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เป็นโครงการที่ กฟผ. จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือชาวประมงขนาดเล็กที่ประสบความเดือดร้อนจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง โดย กฟผ. ได้นำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ถูกปลดออกจากระบบส่งของ กฟผ. มาดัดแปลงสร้างเป็นปะการังเทียม ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา สัตว์ทะเล รวมถึงปะการังจริง โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานราชการ ในจังหวัดต่าง ๆ และชุมชนบริเวณชายฝั่งทะเลในพื้นที่โครงการ จากการติดตามผลที่ผ่านมาพบว่าประสบความสำเร็จ อย่างเห็นได้ชัดเจน มีการเจริญเติบโตของปะการังอย่างรวดเร็ว และมีสัตว์ทะเลหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
 
ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ทำการวิจัยทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เพื่อความสามารถ ในการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ซึ่งพบว่า โครงสร้างของลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าประกอบด้วยธาตุที่ละลายได้ และไม่พบการชะละลายของโลหะหนัก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลและสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์ที่กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กำหนด
 
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ดำเนินโครงการ กฟผ. ได้วางปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าบริเวณชายฝั่งทะเล รวมทั้งหมด 7 ครั้ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประมงพื้นบ้าน